ประชาสัมพันธ์ ▶ ขอแสดงความยินดี กับสมาชิก จปร.32 ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศและเลื่อนตำแหน่ง ตามวาระ เดือน ตุลาคม 2565

วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2566

"ผบ.ทสส."อำลาชีวิตราชการทหารม้า ร่วมพิธีเชิดชูเกียรติเหล่าทหารม้า ประจำปี 2566

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 กองทัพบก โดยศูนย์การทหารม้า จัดพิธีอำลาชีวิตราชการทหารและเชิดชูเกียรตินายทหารเหล่าทหารม้า ประจำปี 2566 ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี พิธีอำลาชีวิตราชการทหารและเชิดชูเกียรตินายทหารเหล่าทหารม้าจัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติทหารม้าที่เกษียณอายุราชการ ถือเป็นการตอบแทนคุณความดีที่ทุกท่าน เสียสละกำลังกายและกำลังใจปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณประโยชน์แก่เหล่าทหารม้าและกองทัพบกตลอดชีวิตการรับราชการ อีกทั้งเป็นการยืนยันถึงความรักความศรัทธาและสายสัมพันธ์อันแนบแน่นในความเป็นทหารม้า
สำหรับปีนี้มีนายทหารเหล่าทหารม้าที่เกษียณอายุราชการทั้งสิ้น 83 นาย ชั้นนายพลเหล่าทหารม้า 30 นาย ชั้นยศพลเอก 12 นาย พลโท 11 นาย พลตรี 13 นาย และยศร้อยตรีถึงพันเอก จำนวน 53 นาย ทั้งนี้ พลเอก เจริญชัย หินเธาว์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานในพิธีเชิดชูเกียรติและมอบของที่ระลึกแก่นายพลที่เกษียณอายุราชการ ณ ห้องประชุม กองบัญชาการศูนย์การทหารม้า โดยมีพลตรี จิรวัฒน์ นาคะรัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าให้การต้อนรับ ซึ่งในครั้งนี้ พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้กรุณาให้เกียรติร่วมพิธีในฐานะนายทหารชั้นนายพลเหล่าทหารม้าที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2566
จากนั้น พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานในพิธีสวนสนามอำลาชีวิตราชการทหารและเชิดชูเกียรตินายทหารเหล่าทหารม้า ประจำปี 2566 ณ ลานสวนสนาม ศูนย์การทหารม้า โดยมีพลตรี จิรวัฒน์ นาคะรัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า พลตรี ศุภฤกษ์ สถาพรผล ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 พลตรี อาจิณ ปัทมจิตร ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และพลตรี พรชัย มาหลิน ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 พร้อมด้วยผู้บังคับการกรมทหารม้า และคณะนายทหารเหล่าทหารม้าที่เกษียณอายุราชการร่วมในพิธี
บทบาทของทหารม้าเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดโครงสร้างหน่วยทหารม้าเช่นเดียวกับอารยประเทศ และในปีพุทธศักราช 2446 กิจการทหารม้าเริ่มถือกำเนิดอยู่ในกรมจเรทัพบก จากนั้นได้แปรสภาพเป็น กรมจเรสัตว์พาหนะทหารบกและการทหารม้า โดยมี พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ดำรงตำแหน่งจเรสัตว์พาหนะทหารบกและการทหารม้า และเปลี่ยนสภาพเป็น กรมการทหารม้า ในปี 2495
หลังจากนั้นในปี 2496 ได้ย้ายที่ตั้งจากกรุงเทพมหานคร มาตั้งอยู่ที่ ถนนพิชัยรณรงค์สงคราม ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และได้ขอพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามของ พลโท พระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช มาตั้งชื่อค่ายเเห่งนี้ว่า ค่ายอดิศร ภายหลังเปลี่ยนเป็น ศูนย์การทหารม้า ปี 2515 พลตรี เปรม ติณสูลานนท์ (ยศ ณ ขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการศูนย์การทหารม้า ได้นำหน่วยเคลื่อนที่ย้ายเข้าที่ตั้งใหม่แห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
เหล่าทหารม้าได้มีการพัฒนาหลักนิยม และรูปแบบการจัดหน่วยเป็น 3 ประเภท คือ ทหารม้ารถถัง ทหารม้าบรรทุกยานเกราะ ทหารม้าลาดตระเวน จัดหน่วยในระดับต่างๆ ประกอบด้วย 3 กองพล, 7 กรม, 31 กองพัน และ 4 กองร้อยทหารม้าลาดตระเวน ซึ่งถือเป็นกำลังรบหลักในการดำเนินกลยุทธ์ของเหล่าทหารม้า 

นอกจากนี้ได้จัดทหารม้าขี่ม้า 1 กองพัน คือ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจในงานพระราชพิธีและรัฐพิธีของประเทศ ศูนย์การทหารม้า เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมยุทธศึกษาทหารบก มีภารกิจในการวางแผน อำนวยการ กำกับการและดำเนินการฝึกศึกษา เกี่ยวกับวิชาการและกิจการของเหล่าทหารม้า วิจัยและพัฒนา กำหนดหลักนิยม และผลิตตำราในทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ปกครอง บังคับบัญชา หน่วยทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามที่ได้รับแบ่งมอบ ภายในเป็นที่ตั้งของโรงเรียนทหารม้า กองการศึกษา โดยมีพันเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตณ์ราชกัญญา ทรงเป็นผู้อำนวยการกองการศึกษาโรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า 

โดยกำลังพลศูนย์การทหารม้า และข้าราชการในเหล่าทหารม้าทุกนายต่างมีปณิธานแน่วแน่ ในอันที่จะสืบสานความดีงามของวีรบุรุษเเละบรรพชนเเห่งทหารม้าในการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเสียสละ เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน