ประชาสัมพันธ์ ▶ ขอแสดงความยินดี กับสมาชิก จปร.32 ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศและเลื่อนตำแหน่ง ตามวาระ เดือน ตุลาคม 2565

การประชาสัมพันธ์

ความหมายการประชาสัมพันธ์ “ การประชาสัมพันธ์ ” มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษ คือ “Public Relations”
 “Public” หมายถึง หมู่คน ประชาชน หรือสาธารณชน
 “Relations” หมายถึง การสัมพันธ์

ดังนั้น ถ้าแปลความหมายแล้ว การประชาสัมพันธ์ (Public Relations) หมายถึง การสัมพันธ์กับคนหมู่มาก
✨เอ็ดเวิร์ด แอล.เบอร์เนส์(Edward L. Bernays) ให้ความหมาย “การประชาสัมพันธ์” ไว้ ๓ ประการ ได้แก่ ✬๑.เป็นการเผยแพร่ ชี้แจงให้ประชาชนทราบ
✬๒.เป็นการชักจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ ตลอดจนวิธีการดำเนินงานของสถาบัน หน่วยงาน
✬๓.เป็นการผสมผสานความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ากับจุดมุ่งหมายและวิธีการดำเนินงานของสถาบัน

 ✨พรทิพย์ วรกิจโภคาทร ให้ความหมาย “ การประชาสัมพันธ์ ” คือ การปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามแผนการของการสื่อสารที่ได้กำหนดไว้ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันถูกต้องตรงกันในอันที่จะสร้างความเชื่อถือ ศรัทธา และความร่วมมือระหว่างสถาบันกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเป็นการปฏิบัติกิจกรรมที่ต่อเนื่องและหวังผลระยะยาว

✨เสรี วงษ์มณฑา ได้กล่าวว่า “การประชาสัมพันธ์” คือ การกระทำทั้งสิ้น ทั้งหลาย ทั้งปวง ที่เกิดจากการวางแผนล่วงหน้า ในการที่จะสร้างความเข้าใจกับ สาธารณชนที่เกี่ยวข้องเพื่อก่อให้เกิดทัศนคติที่ดี ภาพพจน์ที่ดี อันจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีระหว่างหน่วยงานและสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการสนับสนุนและความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

 🔯จากความหมาย “ การประชาสัมพันธ์” ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า “การประชาสัมพันธ์” หมายถึง “การติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงาน หรือองค์กรและกลุ่มประชาชนเป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจอันถูกต้องในอันที่จะสร้างความเชื่อถือ ศรัทธา และความร่วมมือตลอดจนความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆ บรรลุเป้าหมาย”

✨ความสำคัญของการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ (Public relation) เป็นหนึ่งในส่วนประสมของการสื่อสารทางการตลาดซึ่งมีความสำคัญ อย่างหนึ่งขององค์การที่นอกเหนือจากการโฆษณา การขายโดยพนักงานขาย และการส่งเสริมการขาย ทั้งนี้องค์การอาจอยู่ในรูปของบริษัท ห้างร้าน สมาคมหรือหน่วยงานต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งในระบบสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน องค์การจะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้หรืออยู่ได้ยากหากปราศจากการยอมรับ และความเข้าใจจากสาธารณชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสังคม

ดังนั้นจึงจำเป็นที่องค์การต้องให้ความสนใจ ต่อการทำความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสาธารณชนโดยผ่านสื่อต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้สาธารณชนมีทัศนคติ ความเชื่อหรือมุมมองที่ดีต่อองค์การ อันจะส่งผลต่อการดำเนินงานอย่างราบรื่น ในระยะยาวขององค์การ

การประชาสัมพันธ์จะถูกใช้เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ บุคลากร สถานที่ แนวคิดและกิจกรรมการดำเนินงาน ต่างๆ ขององค์การ เช่น ธุรกิจการค้าใช้การประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการฟื้นความสนใจของลูกค้าต่อสินค้าที่ ตกต่ำลง การใช้การประชาสัมพันธ์ของประเทศในการดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนเพื่อให้เข้ามาท่องเที่ยว หรือลงทุนในประเทศ หรือการที่บริษัทใช้การประชาสัมพันธ์เพื่อจัดการกับวิกฤติที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด ในตัวสินค้าของผู้ใช้สินค้า เป็นต้น

ความหมายของการประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์มักจะถูกเข้าใจสับสนกับการโฆษณา คนจำนวนมากมักจะเข้าใจว่าการโฆษณาและ การประชาสัมพันธ์มีความหมายเหมือนกัน จนบางทีเราเรียกการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เป็น “การโฆษณาประชาสัมพันธ์” ซึ่งในความเป็นจริงการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์มีความแตกต่างกัน พอสมควร ดังนี้

การโฆษณา (Advertising) เป็นการกระทำการใดๆ อันเป็นการชักจูงใจต่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ซึ่งอาศัยสื่อมวลชน (Mass media) ในการส่งผ่านข้อมูล ข่าวสารซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายและมิได้เป็นไปในรูปส่วนตัว

การประชาสัมพันธ์ (Public Relation) เป็นการติดต่อสื่อสารจากองค์การไปสู่สาธารณชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง รับฟังความคิดเห็นและประชามติจากสาธารณชนที่มีต่อองค์การ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อถือ ภาพลักษณ์ ความรู้ และแก้ไขข้อผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 

จากความหมายของการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว อาจสรุปเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างได้ ดังตาราง


ลักษณะของการประชาสัมพันธ์ 
ลักษณะของการประชาสัมพันธ์มีดังต่อไปนี้
 ✬1.การประชาสัมพันธ์เป็นการสื่อสารสองทาง (Two-way communication) เป็นการสื่อสารจากผู้ส่งไปยัง ผู้รับเกี่ยวกับข่าวสารขององค์การที่ต้องการสื่อสารให้สาธารณชนรับทราบ และเข้าใจ และยังเป็น การสื่อสารย้อนกลับจากผู้รับ คือ สาธารณชน ไปยังองค์การเกี่ยวกับความคิดเห็นที่เกี่ยวกับองค์การ
✬2.การประชาสัมพันธ์อาจมีกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม (Multiple target group) เช่น พนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ชุมชน รัฐบาล หรือหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุระสงค์ในการประชาสัมพันธ์ว่าต้องการ ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายใดบ้าง
✬3.การประชาสัมพันธ์เป็นการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจ ทั้งนี้การประชาสัมพันธ์ต้องตั้งอยู่บนหลักความจริง เพื่อมุ่งให้เกิดความเชื่อถือและปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ
✬4.การประชาสัมพันธ์เป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยคาดหวังผลต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อให้สาธารณชนมีความศรัทธาและมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อองค์การเพื่อให้องค์การสามารถดำเนินกิจการ อยู่ในระยะยาวได้
✬5.การประชาสัมพันธ์เป็นการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยจะมีการวางแผน ควบคุม และประเมินผล ของการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการประชาสัมพันธ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล

กลุ่มสาธารณชน (Public) จากความหมายของการประชาสัมพันธ์ จะเห็นว่าการประชาสัมพันธ์เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชน (Public) สาธารณชนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ❂1.สาธารณชนภายใน (Internal public) คือ สาธารณชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์การ โดยตรง เช่น พนักงาน หรือลูกค้าขององค์การ ซึ่งองค์การในที่นี้อาจเป็นบริษัท รัฐบาล องค์การไม่แสวงหา ผลกำไรหรือสถาบันใดๆ กิจกรรมในการประชาสัมพันธ์จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้อง ให้สาธารณชนภายในมีความเข้าใจและสนับสนุนในกิจกรรมเหล่านั้นด้วย ดังนั้นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สำหรับสาธารณชนภายใน คือ การให้สาธารณชนเหล่านี้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร นโยบาย เป้าหมาย วัตถุประสงค์ รวมถึงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ ขององค์การ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ขององค์การ
❂2.สาธารณชนภายนอก (External public) คือ สาธารณชนที่อยู่ภายนอกองค์การซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้อง โดยตรงกับองค์การ แต่มีอิทธิพลและมีผลกระทบต่อการดำเนินการต่างๆ ขององค์การ ดังนั้นกิจกรรม ในการประชาสัมพันธ์เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจกับสาธารณชนเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ขององค์การด้วยดี เป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ชื่อเสียงขององค์การ ให้สาธารณชนเหล่านี้ได้เข้าใจถึงเจตนารมย์ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ขององค์การ รวมถึงการสร้าง ทัศนคติที่ดีต่อองค์การ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ สาธารณชนภายนอกอาจ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
✾2.1กลุ่มลูกค้า (Customers) กลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มสาธารณชนที่สำคัญมากต่อองค์การ โดยเฉพาะบริษัทที่ ดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร เพราะเป้าหมายหลักของธุรกิจคือการทำรายได้หรือกำไรสูงสุดจากลูกค้า กลุ่มลูกค้า คือ ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัท ดังนั้นลูกค้าจึงมีความสนใจเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า หรือบริการของบริษัท ดังนั้นลูกค้าจึงต้องการข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ซึ่งลูกค้า คาดหวังจะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการจากบริษัทอย่างถูกต้องและเพียงพอในการตัดสินใจ ซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านั้น ลูกค้าจะมีความพึงพอใจต่อบริษัทเมื่อเขารู้สึกว่าสินค้าหรือบริการที่ซื้อนั้น มีคุณภาพตามที่ต้องการในราคาเหมาะสม ดังนั้นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในกลุ่มลูกค้า คือ การทำให้ลูกค้า เกิดความเชื่อถือ ศรัทธา และมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าและบริการของบริษัทนั่นเอง และเมื่อลูกค้า เกิดความเชื่อมั่นแล้ว บริษัทจะสามารถบรรลุเป้าหมายของบริษัทได้ นอกจากนั้นลูกค้าที่มีความพึงพอใจ ยังจะเป็นกระบอกเสียงที่ดีเยี่ยมให้กับบริษัท โดยการบอกต่อแบบปากต่อปากและช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า หรือบริการของบริษัทให้แก่คนรู้จัก ญาติหรือเพื่อนได้อย่างเต็มใจ โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการประชาสัมพันธ์เลย
✾2.2 กลุ่มผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นผู้ที่ได้รับผลได้หรือผลเสียของการลงทุน ร่วมเป็นหุ้นส่วนและเป็นเสมือน แหล่งเงินทุนสำหรับกิจการ เนื่องจากผู้ถือหุ้นได้ลงทุนในกิจการ จึงต้องการผลตอบแทนไม่ว่าจะเป็นในรูป ของกำไรหรือเงินปันผล ดังนั้นผู้ถือหุ้นมักจะให้ความสนใจในการดำเนินงานและการบริหารของบริษัทว่า มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ บริษัทจึงต้องตอบสนองความต้องการของผู้ถือหุ้นดังกล่าว โดยกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ของบริษัทจะเป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้ถือหุ้น สร้างความน่าเชื่อถือ และขจัดความเข้าใจผิดหรือข่าวลือในทางลบที่เกิดขึ้นกับบริษัท และกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นเกิดความ กระตือรือร้นต่อกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท
✾2.3กลุ่มผู้จัดส่ง (Suppliers) เป็นกลุ่มผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ อุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อป้อนเป็นปัจจัย ในการผลิตแก่บริษัท ผู้จัดส่งจึงต้องการผลกำไรที่เกิดจากการค้าขายกับบริษัท ความสัมพันธ์ที่ราบรื่น และเป็นประจำ รวมถึงการซื้อขายในราคายุติธรรม ดังนั้นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของบริษัท จึงเป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้จัดส่ง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายทั้งบริษัทและผู้จัดส่ง
✾2.4กลุ่มชุมชนใกล้เคียง (Communities) เป็นกลุ่มประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณที่บริษัทตั้งอยู่ บริษัทจึง เปรียบเสมือนเพื่อนบ้านแปลกหน้า ดังนั้นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของบริษัทจะเป็นไปเพื่อสร้าง ความสัมพันธ์อันดี ความเข้าใจเพื่อให้กลุ่มชุมชนใกล้เคียงให้การสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทอย่างดีและเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อสร้างความเชื่อถือกับชุมชนใกล้เคียงว่าบริษัทไม่ได้ตักตวง เอาแต่ผลประโยชน์ของบริษัทโดยไม่คำนึงถึงสังคมรอบข้าง เช่น การจัดตั้งห้องสมุดประชาชน การสร้าง สวนสาธารณะในชุมชน การร่วมกิจกรรมการกุศลต่างๆ เป็นต้น


หลักการเขียนข่าว
การเขียนข่าว คือ คือการนำเสนอข้อเท็จจริง คล้ายข้อเขียนทั่วไป แต่มีรายละเอียดเนื้อหา จุดหมาย และการเผยแพร่ต่างกัน โดยต้องคำนึงถึง วัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ และกลุ่มเป้าหมาย
องค์ประกอบของการเขียนข่าว 3 ส่วน คือ
⭐พาดหัวข่าว
⭐ความนำ
⭐และเนื้อข่าว
ดังนั้น ในการเขียนข่าว จึงดำเนินการดังนี้
✫ส่วนพาดหัวข่าว มักนำส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาไว้ที่พาดหัวข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจ
✫ส่วนความนำ จะเป็นส่วนที่บอกว่ามีอะไรเกิดขึ้น โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญของข่าวครบถ้วน ตามแนวทางการเขียนข่าว หรือ หลัก 5 W+1H ว่า ใคร (who) ทำอะไร(what) ที่ไหน(where) เมื่อไหร่ (when) เพราะอะไร (why) อย่างไร(how)
✫สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของข่าวอย่างครบถ้วน
ส่วนเนื้อข่าว จะอยู่ในส่วนท้ายของข่าว โดยบอกรายละเอียดขยายส่วนความนำอีกครั้งหนึ่ง
องค์ประกอบของข่าวที่ดี คือ มีความชัดเจน มีความถูกต้อง ไม่มีอคติ หรือความเห็นส่วนตัว และมีความสมดุล
✷✷✷คุณค่าของข่าว คือ มีความสำคัญ และน่าสนใจ ทันเหตุการณ์✷✷✷

ภาพข่าวแจก
ภาพข่าวแจก คือ ภาพบุคคล ภาพกิจกรรม หรือภาพประกอบสำหรับข่าวแจก เพื่อให้สื่อมวลชนตีพิมพ์หรือเผยแพร่ เป็นการเสริมให้ข่าวดูน่าสนใจยิ่งขึ้น การมีภาพข่าวให้สื่อมวลชนบางครั้งจะช่วยให้ข่าวมีความชัดเจนมากขึ้น คนอ่านและคนชมจะสามารถจดจำข่าวนั้น ๆ ได้ง่ายและข้อสำคัญสามารถสร้างความประทับใจได้ดีกว่าคำบรรยายธรรมดา
การให้น้ำหนักความสำคัญของภาพข่าวแจกที่จัดส่งให้แก่สื่อมวลชนนั้น เป็นไปได้ 2 ลักษณะ (บุณเณศร์ อิ่ชโรจน์,2544, หน้า 85) คือ
✷1. ภาพข่าวแจกเป็นตัวดำเนินข่าว ในลักษณะนี้ ภาพข่าวคือตัวหลักในการเล่าเรื่อง โดยมีข้อความบรรยายประกอบใต้ภาพ (caption)
✷2. ภาพข่าวใช้ประกอบข่าวแจก ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับแบบแรก คือ ตัวข่าวแจกเป็นตัวหลักในการให้รายละเอียดของข่าว โดยมีภาพข่าวเป็นภาพประกอบ ภาพข่าวแจกควรจะเป็นภาพถ่ายที่มีความชัดเจน คือ มีความสัมพันธ์กับเนื้อหาข่าว และมีคำบรรยายประกอบภาพ เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คำบรรยายประกอบภาพจะบอกรายละเอียดว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
🌟ลักษณะของภาพข่าวแจก ภาพเป็นสื่อที่ใช้สื่อความหมาย สื่อความเข้าใจได้เป็นอย่างดี ภาพจะทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกได้ในตัวเอง การเลือกภาพเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องเลือกสรรให้ได้ภาพที่ดูแล้วเกิดความรู้สึกตามวัตถุประสงค์ ภาพข่าวแจกจึงควรเป็นภาพที่มีเนื้อหา มีชีวิตชีวา มีศิลปะแห่งการถ่ายภาพ และสามารถบอกเรื่องราวให้ผู้ดูรู้เรื่องราวและสามารถเข้าใจได้ชัดเจน ลักษณะของภาพข่าวแจกจึงควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
✷1. เป็นภาพธรรมดาง่าย ๆ ถ้าเป็นภาพคน ก็ควรจำกัดจำนวนบุคคลในภาพ อย่าให้มีมากนัก เพราะจะทำให้ดูสับสน
✷2. เป็นภาพที่สามารถเล่าเรื่องราวนั้น ๆ ได้ในตัวเอง ถ้าเป็นภาพบุคคลก็คงเป็นภาพที่บุคคลกำลังทำอะไรบางอย่าง ไม่ควรเป็นภาพคนยืนหรือนั่งเฉย ๆ โดยไม่มีกิริยาอาการ
✸3. เป็นภาพที่มีจุดเด่นของข่าวที่ชัดเจนและได้สัดส่วน รวมทั้งต้องเป็นภาพที่มีลักษณะสีขาวกับดำตัดกันอย่างเด่น ซึ่งเมื่อนำไปถ่ายทำบล็อกและตีพิมพ์แล้ว จะได้ภาพที่แสดงรายละเอียดในภาพได้ชัดเจนดี และควรเป็นภาพขัดมัน ขนาดไม่ควรเล็กกว่าขนาดโปสการ์ด


การจัดทำภาพข่าวแจก
การส่งภาพข่าวแจกไปให้สื่อมวลชนทุกครั้ง และทุกภาพต้องเขียนคำอธิบายประกอบภาพข่าวนั้นติดไปกับภาพด้วย ซึ่งอาจใช้ขั้นตอนต่อไปนี้
✸1. หัวข้อภาพข่าว
การตั้งชื่อหัวข้อภาพข่าว มีลักษณะเหมือนหัวเรื่อง (headline) ซึ่งบางส่วนหัวข้อเรื่องนี้จะเป็นส่วนแรก มักพิมพ์ตัวหนาหรือตัวใหญ่ หรือขีดเส้นใต้ข้อความไว้แล้วต่อด้วยข้อความที่บรรยายภาพนั้น 
✸2. คำอธิบายภาพ
การเขียนคำอธิบายภาพ จะยึดหลักการเขียนข่าวทั่วไป คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร แล้วแต่ว่าภาพนั้นมีวัตถุประสงค์ต้องการเน้นส่วนใด กล่าวคือ จะเน้นที่บุคคล (ใคร) หรือเน้นกิจกรรม (ทำอะไร) หรือเน้นเหตุการณ์(อย่างไรหรืออะไร) และเน้นสถานที่ (ที่ไหน) การบรรยายภาพนิยมเขียนสั้น ๆ เฉพาะจุดที่ต้องการเน้นเท่านั้น
✸3. ให้มีเครื่องหมายที่แสดงว่าจบคำบรรยายภาพไว้ข้างท้าย
เมื่อจบข้อความที่บรรยายภาพแล้ว ควรทำเครื่องหมายที่แสดงว่าจบคำบรรยายแล้วไว้ข้างท้าย
ส่วนล่างสุดควรบอกชื่อผู้ส่งภาพ สถานที่และหมายเลขโทรศัพท์ สำหรับติดต่อไว้ด้วย ข้อความที่อธิบาย ควรพิมพ์คำอธิบายภาพด้วยกระดาษสีขาวอีกแผ่นหนึ่ง แล้วติดไว้ใต้ภาพ การติดคำบรรยายควรติดด้วยกาวยาง หรือเทปกาวชนิดใสชนิดที่ลอกออกได้ง่าย ไม่ควรเขียนข้อความใด ๆ ไว้หลังภาพ การเขียนคำบรรยายประกอบภาพข่าวแจก ภาพข่าวแจกมีหลายลักษณะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเขียนคำอธิบายประกอบจึงต้องมีวิธีการแตกต่างกันด้วย ดังนี้
✪1. ภาพบุคคล
ภาพบุคคลควรเป็นภาพที่บุคคลกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าเป็นภาพบุคคลหลายคนในภาพ การอธิบายควรอธิบายจากซ้ายไปขวา ภาพที่เน้นบุคคล คำอธิบายต้องบอกให้ชัดเจนว่าบุคคลนั้นคือใคร มีความสำคัญอย่างไร และทำอะไรที่เป็นผลต่อการประชาสัมพันธ์ ที่มา (ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่สอง, 5 ธ.ค.60)
✪2. ภาพกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับข่าว
ภาพกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับข่าวมักจะเป็นภาพบุคคลกำลังทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง คำอธิบายภาพจะต้องเน้นที่ ใคร กำลัง ทำอะไร
✪3. ภาพสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับข่าว
ภาพสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับข่าว ภาพที่แสดงให้เห็นเฉพาะสถานที่ โดยไม่มีบุคคลทำอะไรในภาพนั้น คำอธิบายจะเน้นเฉพาะสถานที่เป็นสำคัญ เพื่อเน้นการประชาสัมพันธ์ให้รู้จักสถานที่
✪4. ภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับข่าว
ภาพลักษณะนี้มักเป็นภาพที่มีความเป็นธรรมชาติ ไม่มีการจัดวางท่า เป็นภาพที่มี “ชีวิต” อยู่ในตัวของมันเอง การบรรยายภาพจึงนิยมบรรยายเน้นเฉพาะเหตุการณ์ โดยนำจุดเด่นของภาพมาอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

สรุป
⭐ข่าวแจก เป็นข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรมการดำเนินงาน รวมทั้งความเคลื่อนไหวต่าง ๆ และผลปฏิบัติงานของหน่วยงาน องค์การ หรือสถาบัน ซึ่งนักประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน องค์การ หรือสถาบันนั้น ๆ เขียนขึ้นส่งให้แก่สื่อมวลชน เพื่อนำไปเผยแพร่แก่ประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน องค์การ หรือสถาบันนั้น แม้ว่าการเขียนข่าวแจกจะนิยมใช้โครงสร้างการเขียนข่าวแบบปิระมิดหัวกลับ และยึดหลักการเขียนข่าวแบบ 5W 1H เช่นเดียวกับการเขียนข่าวทั่ว ๆ ไป แต่การเขียนข่าวแจกก็มีความแตกต่างจากการเขียนข่าวทั่ว ๆ ไป ตรงจุดมุ่งหมายของการเผยแพร่ข่าว ทิศทางของผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลักษณะของแหล่งข่าวหรือการได้ข่าว กลุ่มเป้าหมาย ขอบเขตของข่าว และความรวดเร็วหรือความทันเหตุการณ์

🌟การเขียนข่าวแจกยังมีความแตกต่างกันเมื่อเขียนเพื่อลงพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ หรือเพื่ออ่านออกอากาศทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หากมีการส่งภาพข่าวแจก และทำภาพประกอบข่าวแจกให้เขียนคำบรรยายประกอบภาพด้วย สุดท้ายให้จัดส่งข่าวแจกและภาพข่าวแจกนั้นในเวลาและวิธีการที่เหมาะสม🌟

เครดิต:Janwith Tawpinit  http://pr-rmu.blogspot.com